ความรู้เกี่ยวกับไผ่
ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า Poaceae (เดิมคือ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ เช่น ไผ่จีน (Arundinaria suberecta Munro) ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea Willd.) ไผ่สีสุก (B. flexuosa Munro และ B. blumeana Schult.) ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata Munro) ไผ่ดำ (Phyllostachys nigra Munro).
ไผ่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 สกุล และ 1,000 ชนิด ที่รู้จักกันแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล ต่อไปนี้ Arundinaria, Bambusa, Chimonobambusa, Chusquea, Dendrocalamus, Drepanostachyum, Guadua angustifolia, Hibanobambusa, Indocalamus, Otatea, Phyllostachys, Pleioblastus, Pseudosasa, Sasa, Sasaella, Sasamorpha, Semiarundinaria, Shibataea, Sinarundinaria, Sinobambusa, Thamnocalamus
ในประเทศไทยนั้น พบไผ่อยู่ 30 ชนิด ดังนี้
ไผ่ข้าวหลาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum pergracile )
ไผ่คายดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa compressa)
ไผ่โจด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arundinaria cililta)
ไผ่ซาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus strictus)
ไผ่ซางคำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus latiflorus)
ไผ่ซางนวล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus membranaceus)
ไผ่ซางหม่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus sericeus )
ไผ่ตง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus aspe)
ไผ่ตากวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa kurzii)
ไผ่บง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa nutans)
ไผ่บงคาย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa hosseusii)
ไผ่บงดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa tulda)
ไผ่บงป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispatha)
ไผ่บงหนาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa burmanica)
ไผ่ป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa bambos)
ไผ่เป๊าะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus giganteus)
ไผ่ผาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa densa)
ไผ่เพ็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vietnamosasa pusilla)
ไผ่รวก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys siamensis)
ไผ่รวกดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys oliveri)
ไผ่ไร่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa albociliata)
ไผ่ลำมะลอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispiculatar)
ไผ่เลี้ยง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa mulfiplex)
ไผ่หวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa sp.)
ไผ่สีสุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa blumeana)
ไผ่หก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus hamiltonii)
ไผ่หลอด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Neohouzeaua mekongensis)
ไผ่หอม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa polymorpha)
ไผ่เหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa vulgaris)
ไผ่เฮียะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum virgatum)
ความหมายอันเป็นสัญญลักษณ์ของต้นไผ่
หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ประเทศหลังม่านไม้ไผ่เมื่อเปิดเข้าไปข้างหลังม่านไม้ไผ่เราก็ จะพบกับประเทศจีนประเทศที่มีประเพณี วัฒนธรรม ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งครั้งนี้เราจะได้นำเกล็ดเกี่ยวกับต้นไผ่มาฝาก จะเห็นได้ว่าต้นไผ่นี้ชาวจีนนิยมปลูกกันมาก จนฝรั่งกล่าวว่าไผ่เป็นมิตรของชาวจีน ต้นไผ่มีอยู่หลายชนิดบางชนิดลำต้นมีลาย จึงมีนิทานเล่าว่า ลำข้อที่ลายเกิดขึ้นจากน้ำตาของพระมเหสี ๒ องค์ของฮ่องเต้ซุน ที่ร่ำไห้เสียใจที่ฮ่องเต้ได้สิ้นพระชนม์ลง และน้ำตามาติดที่ข้อไผ่จนเกิดเป็นลาย บางชนิดบางต้นเป็นสีเขียวเรียบ ส่วนขนาด ของลำต้นนั้นมีความสูงตั้งแต่ ๒-๓ ฟุต ไปจนถึง ๒๐-๓๐ ฟุต ส่วนมากจะนิยมปลูกทางใต้ของประเทศจีน แต่ต่อมาได้นำมาปลูกทางเหนือด้วย ต้นไผ่นี้ชาวจีนถือว่าเป็นต้นไม้ของนักปราชญ์ ไผ่มีความหมายในทางสัญลักษณ์คือ ตัวลำต้นเป็นข้อแข็งแกร่งคงทนจีนเรียกว่า " เจี๊ย " หมายถึงคนมีข้อ คือคนที่มีหลักการไม่ลู่ตามลม
ข้างในของไผ่จะกลวง ถ้าเปรียบกับคน ก็เปรียบเสมือนคนใจกว้างยอมรับความคิดเห็นและคำแนะนำของผู้อื่น ชอบหาความรู้เพิ่มเติม ส่วนใบเขียวของไผ่มีความแข็งแรงทนได้ทุกสภาวการณ์ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว จึงเป็นเหตุให้เหล่า เสนาธิการหรือกุนซือของกองทัพจีนนิยมมีเข็มกลัดเป็นรูปข้อไผ่ติดบนหน้าอก ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ความมีปัญญา ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์และความกตัญญู ในเมืองไทยที่เห็นปลูกไผ่นั้นส่วนมากนิยมปลูกเพื่อการตกแต่งบ้านให้ร่มเงา หรือนำเอาส่วนต่างๆ ของต้นไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งต่างๆ แต่ถ้าเราจะเอาแบบอย่างของความหมายทาง สัญลักษณ์ของต้นไผ่มาใช้ในชิวิตประจำวัน ก็คิดว่าสังคมไทยคงจะน่าอยู่มากกว่านี้
คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หน่อไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ดังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย
๒. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
๓. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคืนตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความประณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
๔.ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเชียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://sites.google.com/site/bambooindustrylumphun/classroom-news วันที่ 30 ม.ค 2556 12,320 ครั้ง